ย้ำความน่าเชื่อถือ-ที่มาของข่าว “อดีตบก.ข่าวอิศรา”ชี้สื่อไม่ควรขยายปมขัดแย้ง

เสวนา สิทธิและหน้าที่สื่อมวลชนกับความรับผิดชอบในบทบาทการร่วมสร้างสันติสุข ‘อดีตบก.อิศรา’ ชี้สื่อต้องไม่ขยายความขัดแย้งชายแดนใต้
วันที่ 27 มกราคม 2562 ห้องประชุม 210 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีการจัดเสวนาเรื่อง สิทธิและหน้าที่สื่อมวลชนกับความรับผิดชอบในบทบาทการร่วมสร้างสันติสุข โดย สมาคมสื่อมวลชนชายแดนใต้ ร่วมกับ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายในงานได้รับเกียรติจากนายสามารถ วราดิศัย นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้สรุปการเสวนา
พร้อมทั้ง รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ กล่าวเปิดการเสวนา , นายภูวสิษฏ์ สุขใส นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (STMA)ร่วมเสวนาโดย นายตูแวดานียา มือรีงิง นักข่าวท้องถิ่นและผู้สื่อข่าวสำนักข่าว BERNAMA และ TV3 , นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการอาวุโส สถานีโทรทัศน์ดิจิตอล นิวส์ทีวี และอดีตบ.ก.ศูนย์ข่าวอิศรา, นายระพี มามะ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ pptv , นางมุจรินทร์ ทองนวล ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการอาวุโส สถานีโทรทัศน์ดิจิตอล นิวส์ทีวี และอดีตบ.ก.ศูนย์ข่าวอิศรา กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการทำข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้ คือความน่าเชื่อถือของที่มาของข่าวตอนทำงานในศูนย์ข่าวอิศรา คำถามที่ตนได้ยินตลอดคือ การเกิดความไม่สงบเป็นเจ้าหน้าที่ทำ หรือ กระบวนการ หรือ เป็นพวกที่แอบอ้าง เหมือนอดีตแม่ทัพท่านหนึ่งพูดว่า มีนักการเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล ไปจ้างวัยรุ่นมาก่อเหตุ ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่ แต่นี่คือคนในกองทัพ คนที่มีความเข้าใจแบบนี้แล้วมาพูดชี้แจงกับสื่อ ตนมองว่าเกิดอะไรขึ้น ในขณะที่คนทำงานสื่อการใฝ่หาข้อมูล ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
กรณีหนึ่งนายมุคตาร์ กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรม ท่านเป็นนักการเมืองที่ยึดมั่นในแนวทางสันติ สิ่งที่ท่านพูดคือท่านไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงที่นำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง โดนยิงเสียชีวิตที่บ้าน โดยคนร้าย 4 คนได้มาดักรอซุ่มยิง ด้วยอาวุธสงคราม หลังยิงเสร็จได้ขี่จักรยานยนต์หลบหนี แต่เจอ ชรบ. และอส. ตั้งด่าน จนเกิดการต่อสู้คนร้ายถูกยิงตาย 2 ศพ ตนได้คุยกับรองหัวหน้าพรรค เลขาธิการของท่าน เขาพูดว่าถ้าไม่เจอศพ เชื่อ 100% ว่าเป็นเจ้าที่ภาครัฐเป็นคนทำ
เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่คนในสังคมภาคใต้รับรู้ แต่แปลกในสังคมมลายู บางครั้งจะปกปิดไม่พูดในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนสัมผัสมาจากเพื่อน ๆ มลายู แต่ในสื่อของมลายู เรื่องอะไรที่เป็นชาวมลายูทำจะไม่ถูกพูดถึง แต่เหตุการณ์แบบนี้เป็นข้อเท็จจริง เกิดขึ้นจริง กรณียะโก๊บ หร่ายมณี 5 สิงหาคม 2556 ที่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง
นายเสริมสุข กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นคนทำงาน ทำข่าวมาโดยตลอด เวลามีเรื่องอะไร หรือพูดอะไรต้องมีความมั่นใจในสิ่งที่ต้องการนำเสนอมีความน่าเชื่อถือ ที่บอกว่าบทบาทสื่อมีส่วนในเรื่องของการสร้างสันติสุข ตนคิดว่าการสร้างความเข้าใจในสังคม ในพื้นที่ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พุทธและมลายูอยู่มาด้วยกันด้วยความรัก ตนเห็นภาพงดงามมากมาย ทุกคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้เป็นคนเหี้ยมโหด หรือเห็นด้วยกับความรุนแรง คนทำสื่อทั้งพุทธ มลายูจะทำอย่างไรให้สังคมโดยรวมมองเห็น
ตนคิดว่าเรื่องทั้งหมด บทบาทของสื่อ สื่อออนไลน์ ซึ่งก็คือฐานันดรที่ 5 ถ้ามีเป้าหมายเพื่อสันติสุขในพื้นที่ตรงนี้แล้วทำให้ไปสู้เป้าหมายตรงนั้น อย่างน้อยได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง บทบาทของสื่อต้องไม่ขยายความขัดแย้ง ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด แต่ปัจจุบันตนเห็นผู้ใหญ่และผู้นำศาสนาทั้งสองฝั่งหลายท่านพยายามปรับความเข้าใจ แต่มีพวกสุดโต้งทั้งพุทธและมุสลิมที่พยายามใช้ตรงนี้และขยายความขัดแย้ง ซึ่งตนมองว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก