‘พ่อเมืองนรา’ช่วยนักเรียนยากจน แก้สัญญาณทีวี/ย้ำเปิดเทอม“อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์กัน”
“พ่อเมืองนรา”ร่วมมูลนิธิไทยพีบีเอส ช่วยนักเรียนยากจน! แก้ปัญหาสัญญาณทีวี พร้อมเยี่ยมผู้พิการ มอบเงินบรรเทาความเดือดร้อน ย้ำเปิดเทอม “อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์กัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด ปราศจากแออัด”
18 มิถุนายน 2563 ที่โรงเรียนบ้านจุฬาภรณ์ 12 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ร่วมกิจกรรม “เรียนทางทีวีที่ไหนก็เรียนได้ กับไทยพีบีเอส” มี นายอรุณ ศรีใส นายอำเภอสุคิริน นางไขแสง ศักดา ผู้จัดการมูลนิธิไทยพีบีเอส นางนีรีฎา วาเต๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจุฬาภรณ์ 12 พร้อม หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ผู้ปกครอง และนักเรียน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียงกัน
นายเอกรัฐ หลีเส็น กล่าวว่า ขอขอบคุณมูลนิธิไทยพีบีเอส ที่สนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการเรียนของนักเรียน ซึ่งในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โรงเรียนในจังหวัดนราธิวาสกว่า 450 แห่ง จะเปิดเรียนเป็นวันแรก หลังจากมีการประเมินความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งยังคงต้องเน้นย้ำเรื่องการรณรงค์ “อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์กัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด ปราศจากแออัด”
โดยวันนี้ ถือเป็นวันที่ดีที่มูลนิธิไทยพีบีเอส ได้มอบสิ่งดีๆ ให้กับนักเรียน ขอให้นักเรียนขยันเรียน และผู้ปกครองเอาใจใส่บุตรหลานด้านการเรียน ในช่วง COVID-19 ขอให้อดทน และใช้ชีวิตอย่างพอเพียงก็จะสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้
ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจุฬาภรณ์ 12 ได้รับมอบทีวีเพื่อการเรียนสำหรับนักเรียน จากมูลนิธิไทยพีบีเอส รวมทั้งมีการให้ความรู้เรื่องทีวีดิจิทัล จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมห้องเรียน “เรียนสนุก ชีวิตวิถีใหม่ ห่างไกล COVID-19” พร้อมทั้งชมสถานที่ก่อสร้างบันไดทางขึ้นของโรงเรียน และเยี่ยมชมบริเวณโดยรอบโรงเรียน อีกด้วย
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของนักเรียนที่ขอรับความช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาการรับสัญญาณทีวีให้แก่นักเรียนที่ยากจน โดยมีการสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ และเยี่ยมผู้พิการ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
ทั้งนี้ โรงเรียนบ้านจุฬาภรณ์ 12 มีคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา 10 คน มีนักเรียน 69 คน โดยโรงเรียนตั้งอยู่บนภูเขาสูงติดเขตชายแดนประเทศมาเลเซีย ทำให้ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ บ้านบางหลังไม่มีโทรทัศน์ หรือไม่มีความรู้ในการปรับจูนสัญญาณ ทำให้ไม่สามารถเรียนทางไกลได้ ทางโรงเรียนจึงได้จัดการเรียน การสอนโดยสลับกัน วันละ 2 ชั้นเรียน ใน 3 วันต่อสัปดาห์
โรงเรียนยังขาดแคลนสื่อการเรียน การสอนและอุปกรณ์ โดยเฉพาะโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ มูลนิธิไทยพีบีเอส จึงสนับสนุนการติดตั้งโทรทัศน์ที่ใช้เรียนทางไกล คอมพิวเตอร์ และสื่อการเรียน การสอนเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ และครูให้สามารถทำการเรียน การสอนทางไกลได้