“พลเอกเปรม”กับแผนพัฒนาชนบทยากจน
“พลเอกเปรม”กับแผนพัฒนาชนบทยากจน
วันที่ 9 ธันวาคม 2562 เป็นวันที่ 195 ในการถึงแก่อสัญกรรมของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 2 แผ่นดิน (26 พฤษภาคม 2562)
และกำหนดพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส (8 ธันวาคม 2562)
สงขลาทูเดย์ หยิบยกเรื่องราว “พลเอก เปรมฯกับการพัฒนาชนบท” จากหนังสือ“รัฐบุรุษชื่อเปรม” มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ในตอนหนึ่งของหนังสือ พลเอกเปรม ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาชนบทยากจนไว้ว่า
เรื่องสำคัญที่ผมได้ทำไปแล้ว ยังมีอีกเรื่องเป็นเรื่องสุดท้าย คือ การปรับปรุงระบบบริหารการพัฒนาชนบท ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การพัฒนาชนบทของรัฐบาลนอกจากจะทำตามแผนพัฒนาชนบทยากจน ซึ่งผมเรียนให้ทราบแล้ว ผมตระหนักดีว่า ประเทศไทยยังมีกิจการพัฒนาชนบทอีกมากซึ่งดำเนินการไปตามปกติ ภายใต้ความรับผิดขอบของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ งานปกติเหล่านี้รัฐบาลได้ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากมายมหาศาลติดต่อกันทุกปี เฉพาะ ๔ กระทรวงที่กล่าวแล้วเพียงในปี ๒๕๒๕ ก็เป็นจำนวนกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท
สิ่งที่ผมได้ทำไปแล้วแม้จะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่สู้จะให้ความสนใจ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง สิ่งนั้นได้แก่ การเร่งให้มีการใช้จ่ายเงินจำนวนมากนี้ในพื้นที่ชนบทให้เร็วขึ้น วิธีการที่เราทำก็คือ การเร่งขั้นตอนในการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินงาน ในระยะอีกไม่นานนี้จังหวัดต่างๆ จะเสนอพื้นที่ดำเนินงานในโครงการต่างๆสำหรับปีงบประมาณ ๒๕๒๖ เข้ามาสู่รัฐบาลในรูปของแผนพัฒนาจังหวัด เมื่องบประมาณปี ๒๕๒๖ ออกใช้ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ หน่วยราชการก็จะไม่ต้องเสียเวลาไปเลือกพื้นที่โครงการอีก การเร่งขั้นตอนบางประการเพื่อให้สามารถเริ่มโครงการในพื้นที่ได้เร็วขึ้น ขั้นตอนที่ได้เร่งขึ้นแล้วก็คือขั้นตอนการทำงานนี้จะประหยัดเวลาได้มากถึง ๓-๔ เดือน
เมื่อได้อธิบายมาอย่างนี้ บางทีท่านที่เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลอาจจะสงสัยว่าดูแล้วไม่เห็นมีอะไรใหม่ เพราะการแก้ปัญหาความเจ็บป่วยก็ดี การเพิ่มผลผลิตก็ดี การศึกษาก็ดี ก็เห็นทำกันมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งผมอยากจะเรียนว่า ความใหม่ของแผนพัฒนาชนบทยากจนนั้นอยู่ที่วิธีการหรือการกระทำ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนว่า เราจะทำในพื้นที่ยากจนซึ่งอาจจะไม่ครบ แต่ก็เป็นพื้นที่ซึ่งคนยากจนส่วนใหญ่อาศัยอยู่
นอกจากนั้นเรายังได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าเราทำอะไร ทำที่ไหนเมื่อทำแล้วเจตนารมณ์ของผมต้องการให้เป็นการทำร่วมกันระหว่างประชาชนกับคนของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โครงการทุกโครงการจะต้องรับรู้โดยสภาตำบลตลอดจนประชาชนในท้องที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐถอนตัวออกมาแล้ว ประชาชนก็จะมีความรู้พอที่จะสามารถทำงานนั้นต่อไปได้ด้วยตัวเอง นี่คือลักษณะของโครงการส่วนใหญ่ในแผนพัฒนาชนบทยากจนซึ่งมีปรัชญาหลักอยู่ว่า
“จะต้องทิ้งความรู้ไว้กับประชาชน”
ไม่ว่าจะเป็น ความรู้เรื่องการรักษาตัวอย่างง่ายๆ การกินอาหารให้ถูกต้อง การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ไปจนถึงความรู้ในการเพิ่มผลผลิตให้พออยู่พอกินในที่สุด” อดีตอาจารย์โรงเรียนยานเกราะกล่าวสุนทรพจน์ด้วยความมุ่งมั่นอย่างคล่องแคล่วสมกับที่เคยเป็นอาจารย์วิชาทหารมาก่อน
ท่านกล่าวต่อไปว่า “ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ความสำเร็จของการพัฒนาไม่ใช่จะอยู่ที่รัฐบาลฝ่ายเดียวเท่านั้น ทุกๆฝ่ายมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของประเทศต้องช่วยกัน รัฐบาลนี้ไม่ต้องการแก้ไขปัญหาชนบทด้วยการยัดเยียดความเจริญทางวัตถุ หรือการแก้ปัญหาแบบการประชาสงเคราะห์ แต่เราจะทำให้ชาวชนบทเหล่านั้นยืนอยู่ได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขาเอง” พลเอก เปรมฯ ย้ำอย่างหนักแน่น ทำให้บางคนตาสว่างขึ้นมาอย่างทันตาเห็น
“เราจะแก้ปัญหาจากความอ่อนแอ ความไม่มีหวังในชีวิตของชาวชนบทให้ขึ้นมาอยู่ในระดับพออยู่พอกินเสียก่อนแล้วจึงค่อยก้าวไปถึงการอยู่ดีกินดี ซึ่งเป็นความหวังอันสูงสุดของผมและเพื่อนร่วมงานทุกคน
ผมทราบดีว่าประเทศชาติของเรายังมีปัญหาอยู่มากมายหลายประการ ผมเิงได้พยายามที่สุดในการแก้ปัญหาต่างๆให้บรรเทาลงเท่าที่ผมจะทำได้ แต่ไม่ว่าปัญหาจะมีมากมายหลายประการเพียงใด ปัญหาที่ผมจะไม่ยอมแพ้และไม่มีวันลืมเป็นอันขาดก็คือ ปัญหาของคนยากจนในชนบท”
พลเอก เปรมฯ ย้ำเสียงหนักแน่นพร้อมๆกับเสียงปรบมือดังกึกก้องทั่วห้องประชุมนั้น พลเอก เปรมฯ ทอดระยะเพียงชั่วเสียงปรบมือเบาบางแล้วกล่าวต่อไปว่า
“ผมได้เคยพูดไว้เสมอๆว่า ขอให้คนที่พอช่วยตัวเองได้แบ้วหันไปมองคนที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้บ้าง เราต้องยอมรับความจริงว่า ในบ้านเมืองของเรายังมีคนที่ช่วยตัวเองได้แล้ว แต่มักคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย และยังคงเรียกร้องต้องการอีกเป็นจำนวนมาก”
พลเอก เปรมฯ กล่าวถึงกิเลสของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนประเภทที่ “เห็นแก่ตัว” เป็นสำคัญ ซึ่งยังคงมีไม่น้อยในสังคมเรา
ท่านกล่าวด้วยน้ำเสียงนิ่มๆ ต่อไปว่า
เราต้องช่วยกันเข้าใจปัญหานี้และแยกให้ออกว่า เราควรหันไปเอาใจใส่คนที่ไม่ค่อยจะได้รับความช่วยเหลือและไม่เคยเรียกร้องกันเสียบ้าง คนเหล่านั้น คือ พี่น้องชาวชนบทที่ยากจน เพราะถ้าเราไม่เข้าใจในประเด็นนี้ คนยากจนจริงๆ ซึ่งช่วยตัวเองไม่ได้ก็จะถูกละเลยต่อไป”
ถ้าท่านทั้งหลายเห็นว่าเรื่องที่ผมพูดมานี้ เป็นหลักการที่ถูกต้อง ผมใคร่ขอวิงวอนท่านทั้งหลายได้โปรดให้เวลาและความสนับสนุนแก่แผนพัฒนาชนบทยากจนของรัฐบาลเช่นที่ท่านทั้งหลายกำลังกระทำอยู่ ผมเชื่อว่ายังมีประเด็นปลีกย่อยอีกมาก เราจะต้องทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน
เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็พร้อมที่จะชี้แจงและรับฟังข้อคิดเห็นจากท่าน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนยากจนได้จริง แต่ทั้งนี้เราจะต้องช่วยกันยึดหลักการใหญ่ในการให้ความเอาใจใส่แก่คนยากจนในชนบทที่ผมได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น
ส่วนวิธีการปลีกย่อยนั้น ถ้าเราเห็นร่วมกันในหลักการใหญ่แล้ว ผมเชื่อว่าเราจะช่วยกันคิดอ่านแก้ไขปรับปรุงกันได้ เพื่อนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่์สำคัญยิ่งนี้ในที่สุด
มาถึงตอนนี้ ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายคงจะพอมองเห็นว่า เราสามารถช่วยคนยากจนได้อย่างไร แน่นอนครับ เราไม่สามารถช่วยให้เขาเป็นเศรษฐีได้ แม้จะเพียงพออยู่พอกินก็คงจะยาก แต่อย่างน้อยช่วยให้เขาไม่สิ้นหวังในชีวิต ให้เขามีกำลังใจ และมีความหวังว่า
ในไม่ช้า ชีวิตของเขาจะดีขึ้นแน่นอน และสักวันหนึ่งเขาจะมีพออยู่พอกิน ไม่ต้องยากลำบากเช่นที่เคยเป็นมา
ก่อนจบ ผมขอเรียนย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ผมมั่นใจเสมอว่าถ้าเราสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ เราจะแก้ปัญหาอื่นได้ทั้งหมด
ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นเรื่องการก่อการร้าย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรือแม้แต่ปัญหาการเมือง
ท้ายที่สุดนี้ ผมและเพื่อนร่วมงานทุกระดับ ขอยืนยันต่อท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน ไม่ว่าจะยากลำบากอย่างไร
พวกเราจะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาความยากจนของเพื่อนร่วมชาติของเราในชนบทให้สำเร็จให้จงได้”
สิ้นเสียง พลเอก เปรมฯ เสียงปรบมือดังกึกก้องยาวนานขานรับปรัชญาแผนการแก้ไขปัญหาชนบทยากจน
นับเป็นการพูดที่สมบูรณ์ที่สุดและมีความหมายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาชนบทสืบต่อมา
ขอบคุณภาพ : กรมประชาสัมพันธ์(สวท.สงขลา)
ขอบคุณที่มาข้อมูล : นายบัญญัติ จันทน์เสนะ ไลน์กลุ่ม “๙๙ ปี ล้านความดี เพื่อรัฐบุรุษฯ”